โคลนิงก์

โคลนิงก์


รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงจินตนา ศิรินาวิน
ภาควิชาอายุรศาสตร์
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
      

"โคลนิงก์" คืออะไร
            "โคลนิงก์" (โคลน-นิ่ง) มาจากศัพท์วิทยาศาสตร์ว่า "cloning" หมายถึง การทำให้เกิดสิ่งมีชีวิตที่มีองค์ประกอบทางพันธุกรรมเหมือนๆ กัน จะเรียกว่า "การคัดลอก" หรือ "การถอดแบบ" พันธุกรรม ก็ได้

โคลนิงก์ที่เกิดตามธรรมชาติมีหรือไม่ 
            แฝดไข่ใบเดียวกันเป็นตัวอย่างหนึ่งของโคลนิงก์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เพราะมีต้นกำเนิดจากไข่ที่ปฏิสนธิแล้วใบเดียวกัน  เมื่อไข่จากแม่ปฏิสนธิกับเชื้ออสุจิจากพ่อแล้วแบ่งตัวเป็นหลายเซลล์ ถ้าแต่ละเซลล์แยกออกจากกันและเจริญไปเป็นตัวอ่อนแต่ละตัว ก็จะได้แฝดไข่ใบเดียวกัน ซึ่งอาจเป็นแฝดสองหรือมากกว่าสองก็ได้แฝดไข่ใบเดียวกันมีส่วนประกอบทางพันธุกรรมเหมือนกัน จึงมีลักษณะต่างๆ เหมือนกัน ถ้าจะต่างกันไปบ้างก็เพราะอิทธิพลของสิ่งแวดล้อม เช่น เลือดที่ไปเลี้ยงขณะอยู่ในครรภ์แม่ อาหาร และการเลี้ยงดูหลังคลอด เป็นต้น

นักวิทยาศาสตร์สามารถทำให้เกิดโคลนิงก์ได้หรือไม่ 
            นักวิทยาศาสตร์สามารถทำโคลนิงก์สัตว์ได้สำเร็จมานานนับสิบปีแล้ว วิธีโคลนิงก์ที่ทำกันแต่เดิมเลียนแบบธรรมชาติ อาศัยเซลล์สืบพันธุ์จากพ่อและแม่ปฏิสนธินอกร่างกาย เพาะเลี้ยงระยะสั้นๆ ให้เซลล์แบ่งตัว แล้วแยกเซลล์จากตัวอ่อนตัวหนึ่งออกเป็นหลายๆ เซลล์ ถ่ายฝากแต่ละเซลล์กลับเข้าไปในโพรงมดลูกให้เจริญเติบโตในครรภ์ จนกระทั่งครบกำหนดและตกลูกออกมาได้หลายตัว ทั้งหมดมีต้นกำเนิดมาจากตัวอ่อนตัวเดียวกัน
            เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. 2540 นักวิทยาศาสตร์ชาวสก็อต ชื่อ เอียน วิลมุต (Ian Wilmut) กับคณะ รายงานความสำเร็จของโคลนิงก์แกะวิธีใหม่ โดยใช้เซลล์ร่างกายแทนเซลล์สืบพันธุ์ เขาตั้งชื่อแกะที่ได้จากวิธีนี้ว่า "ดอลลีย์ (Dolly)"

การทำโคลนิงก์มีประโยชน์อะไร 
            การทำโคลนิงก์มีประโยชน์ทางเกษตรกรรม เพื่อแพร่พันธุ์สัตว์พันธุ์ดี สัตว์พันธุ์หายากหรือใกล้สูญพันธุ์ หรือ สัตว์ที่มีลักษณะพิเศษทางพันธุกรรม (เช่น สามารถสร้างโปรตีนมนุษย์ที่ใช้รักษาโรคเลือดออกผิดปกติ เป็นต้น) นอกจากนี้ ใช้สร้างสัตว์ทดลองจำนวนมากที่มีลักษณะพันธุกรรมเหมือนๆ กัน เพื่อศึกษาวิจัยเกี่ยวกับกลไกการเกิดโรคพันธุกรรม และบทบาทของปัจจัยพันธุกรรมกับปัจจัยสิ่งแวดล้อมในการเกิดโรค

ขั้นตอนโคลนิงก์ "ดอลลีย์" ทำอย่างไรบ้าง
ขั้นตอนโคลนิงก์ "ดอลลีย์" มีดังนี้
            1. เพาะเลี้ยงเซลล์จากเต้านมแกะในห้องปฏิบัติการ และทำให้เซลล์อยู่ในระยะจำศีล
            2. แยกไข่ที่ยังไม่ได้ปฏิสนธิมาจากแกะอีกตัว ดูดเอาไข่แดง (ซึ่งมีสารพันธุกรรม) ออก เหลือแต่ไข่ขาว
            3. ทำให้เซลล์เต้านมกับไข่รวมตัวกันโดยใช้กระแสไฟฟ้ากระตุ้น
            4. ถ่ายฝากไข่เข้าไปในมดลูกของแกะอีกตัว (ตอนนี้ไข่มีสารพันธุกรรมจากเซลล์เต้านมอยู่ในไข่แดงแล้ว) ไข่จะเจริญเป็นตัวอ่อน และเติบโตต่อมาจนครบกำหนดตกลูกเป็นลูกแกะ จากไข่ 277 ฟองที่ฝากเข้าไปในมดลูก มี "ดอลลีย์" เพียงตัวเดียวที่มีชีวิตอยู่จนโต 7 เดือน การตรวจลายพิมพ์ดีเอ็นเอ ปรากฏว่า "ดอลลีย์" คัดลอกหรือถอดแบบพันธุกรรมมาจากแกะตัวที่ใช้เซลล์เต้านมมา ไม่ใช่จากแกะตัวที่ให้ไข่ขาว หรือตัวที่ไปฝากไว้ในท้อง

เหตุใดโคลนิงก์ "ดอลลีย์" จึงได้รับความสนใจและกล่าวขวัญกันอย่างมาก 
            ผลสำเร็จของโคลนิงก์ "ดอลลีย์" แสดงถึงการค้นพบทางวิทยาศาสตร์อย่างใหม่ เป็นการสร้างสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมโดยอาศัยเซลล์ร่างกายจากพ่อหรือแม่เพียงอย่างเดียว ไม่ต้องอาศัยการปฏิสนธิของเซลล์สืบพันธุ์ซึ่งต้องมาจากทั้งพ่อและแม่ ดังที่เกิดตามธรรมชาติหรือโดยโคลนิงก์วิธีเดิม
            ความสำเร็จนี้ทำให้เกิดความหวั่นเกรงว่าจะนำไปสู่โคลนิงก์มนุษย์ ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบทางด้านสังคม จริยธรรม และกฎหมายอย่างมากตามมา ขณะนี้โคลนิงก์มนุษย์ถูกต่อต้าน ทั้งถูกประณามโดยองค์กรหลายแห่งจากหลายประเทศทั่วโลก

ความก้าวหน้าของวิทยาการโคลนิงก์จะเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์อย่างไร
            ความก้าวหน้าของวิทยาการโคลนิงก์ มีประโยชน์ทั้งในด้านความรู้พื้นฐานและในการนำมาประยุกต์ใช้เพื่อรักษาโรค  การทำโคลนิงก์มนุษย์ (หรือสัตว์ที่ลักษณะพันธุกรรมคล้ายมนุษย์) จะช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอวัยวะสำหรับใช้ปลูกถ่ายให้ผู้ป่วย เช่น ไขกระดูก และ ไต ความรู้ว่าเหตุใดเซลล์ร่างกายจึงสามารถกลับไปทำหน้าที่เป็นเซลล์ระยะตัวอ่อน แล้วเจริญจำแนกชนิดต่อไปอีก อาจนำไปสู่วิธีการรักษาโรคบางระบบ เช่น ระบบประสาท ทำให้เซลล์ซึ่งเสื่อมหน้าที่หรือถูกทำลายไปแล้ว กลับมาทำงานได้อีก

ผลเสียหรือผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากโคลนิงก์มีอะไรบ้าง 
            การทำให้เกิดมนุษย์ด้วยวิธีโคลนิงก์ จะทำให้ความหมายของการเป็นพ่อแม่ลูก และสถาบันครอบครัวเปลี่ยนแปลงไป ทั้งเป็นการละเมิดหลักการพื้นฐานเกี่ยวกับการนับถือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อาจก่อให้เกิดความสับสนจากการที่มนุษย์ที่เหมือนๆ กันหลายคนในสังคม บางศาสนาถือว่าโคลนิงก์เป็นการละเมิดคำสอนและความเชื่อทางศาสนาอีกด้วย
            ขณะนี้ วิธีโคลนิงก์ยังไม่มีประสิทธิภาพนัก และยังไม่ทราบว่าปลอดภัยเพียงใด เด็กที่เกิดมาโดยวิธีนี้อาจมีความพิการหรือเป็นโรค หรือมีความผิดปกติทางพันธุกรรม หรือมีอายุสั้นกว่าธรรมดาก็ได้
            หากนำโคลนิงก์มาใช้เพื่อคัดเลือกพันธุ์มนุษย์ การคัดลอกแบบจากคนที่ถือกันว่ามีคุณสมบัติดี อาจจะได้ผลออกมาไมดีเหมือนที่คาด เพราะนอกจากพันธุกรรมแล้ว สิ่งแวดล้อมก็มีส่วนหล่อหลอมลักษณะของสิ่งมีชีวิตด้วย ยิ่งกว่านั้น ลักษณะที่ถือกันว่าดีในสมัยหนึ่งหรือสิ่งแวดล้อมหนึ่ง อาจเป็นลักษณะที่ไม่ดีหรือไม่เหมาะสมสำหรับอีกสมัยหนึ่ง หรือในสิ่งแวดล้อมอื่นก็ได้
            อนึ่ง หากทำโคลนิงก์มนุษย์กันอย่างกว้างขวาง ได้มนุษย์ที่มีองค์ประกอบทางพันธุกรรมเหมือนกันจำนวนมากๆ ก็จะทำให้ขาดความหลากหลายทางพันธุศาสตร์ และอาจสูญพันธุ์ได้หากสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป เช่น มีโรคระบาดจากการติดเชื้อบางชนิด

บทส่งท้าย 
            การนำความรู้และความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์มาใช้ จำเป็นต้องคำนึงถึงผลดีผลเสียที่จะเกิดขึ้น นักวิทยาศาสตร์และสังคมมีหน้าที่รับผิดชอบร่วมกัน ที่จะตรวจสอบและวางมาตรการอันเหมาะสมเพื่อนำวิทยาศาสตร์มาใช้ให้บังเกิดประโยชน์สุขต่อสังคมทั่วหน้ากัน


 

 

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด